หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หอเกียรติยศที่ทรงคุณค่าในการเชิดชูเกียรติแห่งสถาบัน เป็นแหล่งบันทึกความทรงจำอันน่าภาคภูมิใจที่บูรณาการอุดมการณ์แห่งพระปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก สานต่อเจตนารมณ์การก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยตลอดจนศักยภาพในอนาคตของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดทำหอประวัติฯ ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง การจัดทำหอประวัติฯ เกิดจากการริเริ่มของอดีตอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข โดยมีแนวความคิดที่ว่า เนื่องมาจากอีก 100 ปี ข้างหน้าผู้คนจะหวนหาอดีต อยากรู้ว่าประวัติของมหาวิทยาลัยเริ่มต้นมาอย่างไร ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีจิตสำนึกถึงพระคุณของผู้ก่อตั้ง ภายในหอประวัติฯ จะมีข้อมูลเริ่มตั้งแต่สมัยที่ ม.อ. มีที่ทำการชั่วคราวที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ถนนศรีอยุธยา (ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งย้ายมาที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้บริจาคที่ดินคือ นางซุ่ยสิ้ม ปริชญากร และตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปัจจุบัน โดยคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ได้บริจาคที่ดินในการก่อตั้ง
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เพื่อเป็นการสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" ภายในหอประวัติฯ จัดให้มีโซนพระราชประวัติของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ รวมทั้งจัดให้มีโซน “ม.อ.ใต้ร่มพระบารมี” เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงภาพและเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นอกจากนั้น หอประวัติฯ แห่งนี้ จะเป็นสถานที่จัดแสดงประวัติของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข อดีตอธิการบดี ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย และเป็นที่รวบรวมประวัติของอธิการบดีคนแรก และนายกสภามหาวิทยาลัยคนแรก จนถึงคนปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงระยะเวลา 45 ปี ที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในความทรงจำอีกมากมาย หอประวัติฯ ดังกล่าว จะใช้เป็นแหล่งศึกษาของนักศึกษาและบุคลากรทั่วไปให้เข้ามาเที่ยวชม เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยี่ยมเยือน เป็นอาคารที่ร่มรื่นสวยงาม โดยใช้พื้นที่อาคารสามชั้นหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร (เดิม) เป็นสถานที่ดำเนินการ
หอประวัติฯ ได้เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2557 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารหอประวัติฯ