เฉลยปัญหาประจำเดือน ตุลาคม 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
   
คำถาม :
นับตั้งแต่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นจำนวนกี่ครั้ง
 
 
 
ก) 2 ครั้ง
ข) 3 ครั้ง
ค) 4 ครั้ง
ง) 5 ครั้ง
   
คำใบ้ :
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ”
   
คำตอบ : ข)     3 ครั้ง
 
 

เกร็ดความรู้

 

              นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ซึ่งมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกจนถึงปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นปีที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 38) สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 ครั้งที่ 6
 วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2520
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2519 ณ อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ อธิการบดี เพื่อนำไปทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนน ต่อไป
 
 
 ครั้งที่ 18
 วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2532

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2531 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย
 
 ครั้งที่ 19
 วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2533

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2532 ณ  ห้องประชุมทองจันทร์  หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุดคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วย

 

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

 
ปัญหาข้อที่ 2 :
 
 
   
คำถาม :
โคลงสี่สุภาพ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด
 
 
 
ก) ร.2
ข) ร.3
ค) ร.5
ง) ร.6
   
คำตอบ : ค)     ร.5

เกร็ดความรู้


             แนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “ คนดี ” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
 
 

            บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อัญเชิญมานี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคัดมาด้วยลายพระหัตถ์ ทรงเล่าพระราชทานพระราชธิดาในภายหลังว่า เมื่อทรงอ่านก็โปรด ทรงเห็นด้วยกับสาระในโคลงพระราชนิพนธ์นั้น อาจพิจารณาได้ว่าคงจะทรงใช้เป็นคติในการประพฤติปฎิบัติพระองค์ ตลอดจนเป็นหลักในการทรงพิจารณาบุคคล  และพระราชทานคำแนะนำสั่งสอนผู้ที่จะทรงพึงแนะนำสั่งสอนได้  เป็นเครื่องเตือนให้สังวรณ์ระมัดระวังในการประพฤติปฎิบัติตนเพื่อให้เป็นคนดี ซึ่งคนดีตามแนวพระราชดำรัสของพระองค์ก็คือ “ ...จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปดไม่สอพลอ ไม่อิจฉา ริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม ”


            
( ข้อมูลจากหนังสือ “ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี : สมเด็จย่าของแผ่นดิน ” จัดพิมพ์โดย   คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2539 )
 
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤศจิกายน 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
 
 
   
คำถาม :
ภาพนี้เป็นอาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก่อนย้ายลงสู่ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้อาคารนี้เป็นสถานที่ศึกษาและที่ตั้งของสำนักงานชั่วคราว อยากทราบว่า อาคารนี้คืออาคารอะไร
 
 
 
ก) คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ข) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ค) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
คำใบ้ :
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ”
   
คำตอบ : ก)      คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
 

 

  

 

เกร็ดความรู้

 
          มหาวิทยาลัย ในระยะเริ่มก่อตั้ง มีชื่อว่า “ มหาวิทยาลัยภาคใต้ ” โดยมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลสงฆ์  ถนนศรีอยุธยา  กรุงเทพมหานคร ( ปัจจุบัน คือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
กลุ่มอาคารบางส่วนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม
ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้อาศัยร่มเงา

ตึกห้องปาฐกถาและห้องสมุด
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม


          ต่อมา ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ”
          
          ในปี  พ.ศ. 2510  มหาวิทยาลัยได้เริ่มรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นรุ่นแรก จำนวน 50 คน
          ในปีการศึกษา 2511  ซึ่งเป็นปีถัดมา มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  เป็นรุ่นแรก จำนวน 60 คน
 แบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์ 35 คน และสาขาศิลป์ 25 คน
          ในปีการศึกษา 2512  มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เป็นรุ่นแรก จำนวน 60 คน
 
          นักศึกษาที่รับเข้าศึกษาทั้ง 3  คณะ ได้อาศัยใช้ห้องปาฐกถาที่อาคารของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม  ข้างโรงพยาบาลสงฆ์  เป็นสถานที่เรียนวิชาบรรยาย  ส่วนการใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  ได้ตามไปใช้ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์หลังใหม่
 ตรงข้ามกรมทรัพยากรธรณี ถนนพระราม 6 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2511
          สำหรับการย้ายลงมาสู่ภาคใต้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทยอยย้ายเป็น 3 ระลอก ดังนี้
 
          - ในภาคการศึกษาที่  2  ของปีการศึกษา  2511  เมื่อการก่อสร้างที่ศูนย์ศึกษา ตำบลรูสะมิแล จังหวัดปัตตานี แล้วเสร็จ
 คณะศึกษาศาสตร์ก็เป็นคณะแรกที่ย้ายนักศึกษาและคณาจารย์จาก กรุงเทพมหานคร  มาเริ่มการเรียนการสอนที่จังหวัดปัตตานีเป็น
 คณะแรก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511
           -ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514 การก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  แล้วเสร็จบางส่วน
 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 คณาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2,3,4 ก็ย้ายมาเริ่มการเรียนการสอนที่ศูนย์
 อรรถกระวีสุนทร ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ยังคงเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่อไปอีก
 หนึ่งภาคการศึกษา และย้ายตามลงมาในภาคการศึกษาที่ 2 ของปีการศึกษาเดียวกัน
          -ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2515 คณาจารย์พร้อมทั้งนักศึกษาชั้นปีที่ 2,3,4 ของคณะวิทยาศาสตร์ (รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน
 อธิการบดี)  ซึ่งเป็นบุคลากรและนักศึกษาชุดสุดท้ายที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ  ก็ย้ายมาประจำที่ศูนย์อรรถกระวีสุนทร  อำเภอหาดใหญ่
 จังหวัดสงขลา เป็นการถาวร จึงถือว่า เป็นการสิ้นสุดที่ทำการชั่วคราวที่กรุงเทพฯ

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :
 
คำถาม : นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนายกสภามหาวิทยาลัย มาแล้วกี่คน
 
 
 
ก) 4 คน
ข) 5 คน
ค) 6 คน
ง) 7 คน
 
 
คำตอบ :

ข)      5 คน

 

เกร็ดความรู้

 
          นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนายกสภามหาวิทยาลัยมาแล้ว จำนวน 5 คน โดยมีรายนามและวาระการดำรงตำแหน่งดังนี้
 

นายกสภามหาวิทยาลัย คนที่ 1  


จอมพล ถนอม กิตติขจร
วาระการดำรงตำแหน่ง
13 มีนาคม 2511 – 17 กันยายน 2515
(เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คนแรก ตาม พ.ร.บ. ฉบับแรกที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย)
 

นายกสภามหาวิทยาลัย คนที่ 2  


พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์
วาระการดำรงตำแหน่ง
18 กันยายน 2515 – 17 กันยายน 2517
18 กันยายน 2517 – 17 กันยายน 2519
18 กันยายน 2519 – 17 กันยายน 2521
                 18 กันยายน 2521 – 23 สิงหาคม 2522   (ดำรงตำแหน่ง
ไม่ครบ 2 ปี เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2522 )
 

นายกสภามหาวิทยาลัย คนที่ 3  


นายโอสถ โกศิน
วาระการดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม 2522 – 23 สิงหาคม 2524
24 สิงหาคม 2524 – 23 สิงหาคม 2526
24 สิงหาคม 2526 – 23 สิงหาคม 2528
 

นายกสภามหาวิทยาลัย คนที่ 4  


นายเกษม จาติกวนิช
วาระการดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม 2528 – 23 สิงหาคม 2530
24 สิงหาคม 2530 – 23 สิงหาคม 2532
 

นายกสภามหาวิทยาลัย คนที่ 5


ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล
วาระการดำรงตำแหน่ง
5 กันยายน 2532 - 4 กันยายน 2534
14 ตุลาคม 2534 - 13 ตุลาคม 2536
15 ธันวาคม 2536 - 14 ธันวาคม 2538
19 มกราคม 2539 - 18 มกราคม 2541
22 มกราคม 2541 - 21 มกราคม 2543
19 กุมภาพันธ์ 2543 - 18 กุมภาพันธ์ 2545
19 กุมภาพันธ์ 2545 - 18 กุมภาพันธ์ 2547
19 กุมภาพันธ์ 2547 - 18 กุมภาพันธ์ 2549
19 กุมภาพันธ์ 2549 - 18 กุมภาพันธ์ 2551
19 กุมภาพันธ์ 2551 - ปัจจุบัน
 
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

 

เฉลยปัญหาประจำเดือน ธันวาคม 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
   
 
“ หากจะหา ของขวัญ ให้พ่อสักกล่อง
เราทั้งผอง จะพร้อมกันได้ไหม
บวกกันเป็นดินเดียว ให้พ่อให้สุขใจ
ไม่ต้องเหนื่อยเกินไป อย่างที่เป็นมา
ช่วยกันทำความดี ให้พ่อได้สุขใจ
ไม่ต้องเหนื่อยเกินไป อย่างที่แล้วมา ”
   
คำถาม : อยากทราบว่า เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร

คำตอบ :
ชื่อเพลง “ ของขวัญจากก้อนดิน ” ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์  {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/Dec09-full.mp3{/audio}

 

เกร็ดความรู้

 
พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          เพลง “ ของขวัญจากก้อนดิน ” อยู่ในอัลบั้ม “ แทนหัวใจ...ให้พ่อ ” ศิลปินผู้ขับร้อง คือ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ผู้ให้คำร้องและทำนอง คือ  นิติพงษ์ ห่อนาค เรียบเรียงเสียงประสานโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช จัดทำโดย บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนธันวาคม 2542
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเพลง “ ของขวัญจากก้อนดิน ”
ข้อความบางส่วนต่อไปนี้ นำมาจากหนังสือ “ เติมคำในทำนอง ” โดย นิติพงษ์ ห่อนาค ผู้ประพันธ์เพลง “ ของขวัญจากก้อนดิน ”)

          “....ในวันเกิดของคนที่เรารักมากๆ คนหนึ่ง เราก็พยายามนึกเดาว่า ใครคนนั้นอยากได้อะไรมากที่สุด แล้ววันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์พระบิดาของชาวไทยทั้งปวงล่ะ พระองค์ท่านจะทรงโปรดสิ่งใดมากที่สุด
          ผมบังอาจเดาด้วยตัวเองจากแรงบันดาลใจที่จะเขียนเพลง ผมเดาว่า...ของขวัญนั้น คงไม่ใช่แสงจากเทียนนับล้านเล่ม เพลงสดุดีมหาราชา ในเวลาสิบเก้านาฬิกาสิบเก้านาทีเท่านั้น ผมเดาว่า...พระองค์ท่านจะทรงโปรดให้ชาวไทยมีความสมัครสมานสามัคคีกันมากที่สุด เพื่อที่จักได้ใช้ความฉลาดเฉลียวที่คนไทยไม่แพ้ใครในโลก มาร่วมกันแก้ปัญหาของพี่น้องชาวไทย ทุกหมู่ทุกเหล่าให้หมดสิ้นไป ผมเดาว่า...สิ่งที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาเลย คือต้องทรงออกมาประทับอยู่ตรงกลางความขัดแย้ง เพื่อยุติเรื่องเหล่านั้น เหมือนในเดือนตุลาคม หรือพฤษภาคมของบางปีที่ผ่านมา
          ทั้งหมดเวียนอยู่ในหัวผม แล้วก็กลายเป็นแรงบันดาลใจว่า จะเขียนเพลงนี้ขึ้นมา....

          เพลง “ ของขวัญจากก้อนดิน ” เป็นเพลงที่ประชาชนคนไทยนิยมชมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่มีความหมายที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี อันเปี่ยมล้นหัวใจของข้าแผ่นดินที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :
 
คำถาม : นับตั้งแต่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก  เมื่อปี  พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา  จนถึงปี พ.ศ. 2531  (ครั้งที่ 17) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดต่อกันเป็นจำนวนถึง 16 ครั้ง แต่มีเพียง 1 ครั้ง ที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชภารกิจ พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ อยากทราบว่า พ.ศ.นั้น เป็นปี พ.ศ.ใด
 
 
 
ก) พ.ศ. 2520
ข) พ.ศ. 2525
ค) พ.ศ. 2530
 
 
คำใบ้ : ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอประวัติฯ โดยคลิกไปที่เฉลยปัญหาพร้อมเกร็ดความรู้ย้อนหลังประจำเดือนพฤษภาคม 2551 หรือจากหนังสือ “ ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ”
 
 
คำตอบ :

ข) พ.ศ. 2525

 

เกร็ดความรู้

 
          ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2524 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 

          ในปีการศึกษานี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในระดับมหาบัณฑิตเป็นรุ่นแรกของมหวิทยาลัย จำนวน 6 คน และบัณฑิต จำนวน 1,051 คน

 
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

PSU Hall of History
15 Karnchanavanich Road,
Hat Yai, Songkhla 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ Email  : psuhistory@psu.ac.th

♦️ แผนที่ 
 Facebook

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน