รวมเฉลยปัญหาย้อนหลังประจำปี 2552

 

  • เดือน มกราคม 2552

  • เดือน กุมภาพันธ์ 2552

  • เดือน มีนาคม 2552
  • เดือน เมษายน 2552

  • เดือน พฤษภาคม 2552

  • เดือน มิถุนายน 2552

  • เดือน กรกฎาคม 2552

  • เดือน สิงหาคม2552

  • เดือน กันยายน 2552

  • เดือน ตุลาคม 2552

  • เดือน พฤศจิกายน2552

  • เดือน ธันวาคม2552
  • เฉลยปัญหาประจำเดือน มกราคม 2552

    ปัญหาข้อที่ 1 :

     
     
    “ ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า 
    ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
    โปรดประทานพรโดยปรานี
    ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย "
       
    คำถาม  : เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร
       
    คำใบ้  : เพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
       
    คำตอบ : ชื่อเพลง “ พรปีใหม่ ” {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/PonPeeMai-mp3-full.mp3{/audio}

     

    เกร็ดความรู้

     
              เพลงพระราชนิพนธ์ “ พรปีใหม่ ” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494

              เดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัติพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ พรปีใหม่ ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่  แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี  2 วง  คือ  วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495

              (จากหนังสือ “ ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน ” จัดทำโดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี , 2539)

    ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

    ปัญหาข้อที่ 2 :

     
    คำถาม  : นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอธิการบดีมาแล้วกี่คน (ไม่นับคนซ้ำ แต่นับคนปัจจุบันด้วย)
     
    ก) 8 คน
    ข) 10 คน
    ค) 12 คน
       
    คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
       
    คำตอบ : ข) 10 คน (เนื่องจากคนที่ 5 และ 7 เป็นบุคคลคนเดียวกัน)
     

    เกร็ดความรู้

     
              นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอธิการบดีมาแล้ว จำนวน 11 คน (นับตามลำดับที่เป็น) โดยมีรายนามและวาระการดำรงตำแหน่งดังนี้
     
      อธิการบดีคนที่ 1
     
    ฯพณฯ พ.อ. (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 1 เมษายน 2511 – มีนาคม 2512
     
      อธิการบดีคนที่ 2
     
    ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 2 มีนาคม 2512 – กรกฎาคม 2514
     
      อธิการบดีคนที่ 3
     
    ศ.ดร.บัวเรศ คำทอง
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 3 กรกฎาคม 2514 – กรกฎาคม 2516

      อธิการบดีคนที่ 4
     
    ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 4 กรกฎาคม 2516 – กรกฎาคม 2518
     
      อธิการบดีคนที่ 5
     
    ผศ.ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 5 และ สมัยที่ 6 กรกฎาคม 2518 – กรกฎาคม 2522
     
      อธิการบดีคนที่ 6
     
    รศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 7 และ สมัยที่ 8 กรกฎาคม 2522 – มิถุนายน 2528
     
      อธิการบดีคนที่ 7
     
    ผศ.ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 9 และสมัยที่ 10 กรกฎาคม 2528 – พฤษภาคม 2534
     
      อธิการบดีคนที่ 8
     
    รศ.ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 11 และ สมัยที่ 12 มิถุนายน 2534 – พฤษภาคม 2540
     
      อธิการบดีคนที่ 9
     
    ผศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 13 มิถุนายน 2540 – พฤษภาคม 2543
      อธิการบดีคนที่ 10
     
    รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 14 และ สมัยที่ 15 มิถุนายน 2543 – พฤษภาคม 2549
     
      อธิการบดีคนที่ 11
     
    รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข
    วาระการดำรงตำแหน่ง
    สมัยที่ 16 มิถุนายน 2549 - ปัจจุบัน
     

    ข้อมูล เมื่อ มกราคม 2552
    ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

    เฉลยปัญหาประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2552

    ปัญหาข้อที่ 1 :
     
    คำถาม :
    เทปเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้จัดทำ โดยใช้ชุดว่า “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” จัดทำขึ้นใน พ.ศ. ใด
     
     
    ก)      พ.ศ. 2513
    ข)      พ.ศ. 2527
    ค)      พ.ศ. 2544
       
       
    คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในเว็บไซต์ ของหอประวัติโดยคลิกไปที่ เฉลยปัญหาพร้อมเกร็ดความรู้ย้อนหลัง
       
    คำตอบ : ข) พ.ศ. 2527
     
     

    เกร็ดความรู้

     
                เทปเพลง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุด “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้จัดทำ

                ความเป็นมาของการจัดทำเพลงชุดนี้ ผมยังจำได้ว่า ประมาณกลางปี พ.ศ. 2526 อาจารย์ประสาท มีแต้ม นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั้น ได้มาพบและบอกกับผมว่า “ พี่ ผมอยากจะทำเทปเพลง ม.อ. สักชุดหนึ่งและอยากจะขอให้พี่ช่วย ” โดยอาจารย์ประสาทได้ยื่นกระดาษให้ผมปึกหนึ่ง ในกระดาษมีเนื้อร้องของเพลงไม่ต่ำกว่า 10 เพลง ซึ่งแต่งโดยอาจารย์และนักศึกษา  ม.อ. พร้อมกันนั้นได้ส่งเทปคาสเซ็ทให้ 1 ม้วน ซึ่งมีเสียงร้องของนักศึกษา ร้องให้ฟังเป็นตัวอย่างอยู่ในเทปม้วนนั้น

                 หลังจากนั้น ผมได้นำเทปรวมทั้งเนื้อร้องไปปรึกษาหารือกับคุณมนตรี สุปัญโญ  หัวหน้าวงดนตรีจามรี  ซึ่งขณะนั้นเล่นอยู่ที่อะลาดิน
    ไนต์คลับ โรงแรมโฆษิต หาดใหญ่ จนกระทั่งในที่สุด คุณมนตรี หรือ “พี่หมู” ซึ่งผมมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นส่วนตัว ได้รับปากที่จะเป็นผู้ทำโน้ต และขัดเกลาเพลงต่างๆ ให้ถูกต้องตรงตามฉันทลักษณ์ทางด้านดนตรี

                 3 เดือนต่อมา พี่หมูได้มอบโน้ตเพลงที่ทำเสร็จอย่างสมบูรณ์จำนวน 6 เพลงให้ผม ซึ่งเพลงทั้ง 6 เพลง ได้แก่เพลง ร่มศรีตรัง ลาร่มศรีตรัง  ยังไม่ลืมศรีตรัง  พริ้วศรีตรัง  ทะเลสีบลู  และแดนสรวง  เมื่อผมถามถึงเพลงอื่นๆ  ที่เหลือ  พี่หมูได้บอกอย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
    “ เพลงต่างๆ เหล่านั้น เหมาะที่จะเก็บไว้ร้องฟังกันเองมากกว่า ”
     
                อีกไม่นานต่อจากนั้น  ผมได้นำโน้ตเพลงทั้ง  6  เพลง  เข้ากรุงเทพฯ  โดยไปพบกับนายแพทย์วีรชัย  ศิริพานิชย์  หมอนักแต่งเพลง    เพื่อขอความช่วยเหลือในการจัดทำเทปเพลง   ดังกล่าว  หมอวีรชัย  เป็นเพื่อนสนิทของผมสมัยที่เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  (ปัจจุบันคือคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยหมอวีรชัย เข้าเรียนเตรียมแพทย์ และผมเข้าเรียนเตรียมทันตแพทย์

     
                หมอวีรชัยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง ตั้งแต่การวางแผนดำเนินงาน และเพื่อให้เพียงพอต่องบประมาณที่มีอยู่ หมอวีรชัย ได้ติดต่อนักร้องชั้นนำที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น คือ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา คุณจิตติมา เจือใจ คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส คุณกิ่งกาญจน์ กาญจนา และคุณวินัย พันธุรักษ์ เป็นผู้ขับร้องเพลงชุดนี้โดยไม่คิดค่าตอบแทนและได้มอบหมายให้คุณกัลยา ศิริพานิชย์( กิ่งกาญจน์ กาญจนา ) ภรรยาคู่ชีวิตมาเป็นผู้ประสานงานกับนักร้องและนักดนตรี รวมทั้งอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการบันทึกเสียง ในห้องบันทึกเสียง

                    นอกจากนั้นแล้วหมอวีรชัย ยังได้ติดต่อพี่พิมพ์ (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์) นักเรียบเรียงเสียงประสานแผ่นเสียงทองคำมาจัดทำเพลงชุดนี้ให้ โดยขอให้คิดค่าตอบแทนในราคาถูกเป็นพิเศษอีกด้วย
      
    ลายมือ  นพ.วีรชัย  ศิริพานิชย์
     
                และเพื่อให้เทปเพลงชุดนี้มีจำนวนเพลงครบ  10  เพลง  หมอวีรชัยได้ให้คำแนะนำว่า  ควรนำเพลง  ม.อ.  อีก  4  เพลง  ซึ่งแต่งไว้เดิมโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์  มารวมไว้ด้วย

                การจัดทำเพลงชุดนี้  เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์  เมื่อเดือนมีนาคม  2527  ในขณะที่หมอวีรชัยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ด้วยโรคมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย 

             นายแพทย์วีรชัย  ศิริพานิชย์  ได้จากไปอย่างสงบ  เมื่อคืนวันเสาร์ที่  5  พฤษภาคม   โดยผมในฐานะนายกสโมสรอาจารย์และข้าราชการ  ม.อ.  ได้นำพวงหรีดไปเคารพศพ  เพื่อเป็นการไว้อาลัย  ณ  วัดสุวรรณาราม  กรุงเทพฯ

                5 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 สโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงาน “ ศรีตรังบานในดวงใจ ” โดยได้เชิญนักร้อง และนักดนตรีที่ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำเทปเพลงชุด “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” มารับโล่เกียรติยศ จากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อธิการบดี

    นักร้องเกียรติยศถ่ายภาพพร้อม
    กับอธิการบดี
    ด.ญ.สิรกัญญา  ศิริพานิชย์  (น้องโน้ต) บุตรสาว 
    นพ.วีรชัย  ศิริพานิชย์  เข้ารับโล่จากอธิการบดี

                ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมควรจะต้องบันทึกไว้ว่าบุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีคุณูปการเกี่ยวกับการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่
     


    ถ่ายทอดข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
     

     

    ปัญหาข้อที่ 2 :
     
    คำถาม :

    บุคคล (ที่กำลังนั่ง) ในภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน

     
     
    คำใบ้:
    บุคคลท่านนี้ เคยเป็นอธิการบดีคนหนึ่งของ ม.อ.ภาพนี้เป็นภาพที่ท่านกำลังรดน้ำอวยพรจากบุคลากร  เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่ 2 ของคณะวิทยาศาสตร์
       
    คำตอบ :

    รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์

       

    เกร็ดความรู้

     
     
                  


    ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์
              อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนที่ 8
    วาระการดำรงตำแหน่ง
               มิถุนายน 2534 - พฤษภาคม 2540 (2 วาระติดกัน)
    ประวัติการศึกษา
    • Ph.D. (Mathematical Physics)  จาก Imperial colledge of Science and Tehnology มหาวิทยาลัย London (2509)
    • วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 22 (2522)
    • M.Ed จากมหาวิทยาลัย Illinois นคร Chicago มลรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา  (2514)
    ปริญญากิตติมศักดิ์
    • ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารการศึกษา)จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2540)
    ประวัติการทำงานที่สำคัญ
    • พ.ศ.2513        ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2517-2522 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (2 วาระติดต่อกัน)
    • พ.ศ.2520         รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2522-2523 ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2524-2526 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2528-2531 รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2531-2534 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2534-2540 อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    • พ.ศ.2542-2546 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติ
    เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
    • ประธาน ที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย (2537)
    • ประธานสมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งภูิมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย
    • กรรมการที่ปรึกษา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
    • กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
    ผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดี
          1. จัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะศิลปศาสตร์
          2. เปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษา หลักสูตรแรก สาขาวิชาเคมีศึกษา
          3. ส่งเสริมให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา
          4. วางแนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่นการวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนาบุคลากร วิเทศสัมพันธ์
              พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยี ก่อตั้งสภาวิชาการ
          5. เข้าร่วมโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย(IMT-GT)
          6. จัดตั้งกองทุนพิเศษ 100 ปี สมเด็จพระบรมราชนก
     
    ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

    เฉลยปัญหาประจำเดือน มีนาคม 2552

    ปัญหาข้อที่ 1 :
     
     
    “ ฝากหัวใจในสถานการศึกษา 
    เทิดบูชาวิทยาศาสตร์สามารถแสน
    ช่อศรีตรังฝังใจไม่คลอนแคลน
    รักดินแดนถิ่นนี้ชื่อศรีตรัง "
     
     
    คำถาม :
    ใครเป็นผู้ขับร้อง
     
     
     
    ก) สุเทพ วงศ์กำแหง  และ  สวลี ผกาพันธ์
    ข) ไอซ์ ศรัณญู  และ  โรส ศิรินทิพย์
    ค) ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา  และ  ดาวใจ ไพจิตร
       
    คำตอบ : ค) ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และ ดาวใจ ไพจิตร {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/ฝากหัวใจไว้ที่วิทยาศาสตร์-มีค52.wma{/audio}
     
     

    เกร็ดความรู้

     

                  เพลง “ ฝากหัวใจไว้ที่วิทยาศาสตร์ ” เป็นเพลงมหาวิทยาลัยอีกเพลงหนึ่งที่อยู่ในชุด “ ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก ” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

                 เพลง ม.อ. ชุดนี้ รศ.ดร.ธวัช ชิตตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น ได้มีดำริให้จัดทำขึ้น โดยมอบหมายให้ผมเป็นผู้ประสานงานในการจัดทำ

                 ผมเอง มีความคิดว่า เมื่อเพลงชุดนี้จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 35 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ก็ควรที่จะมีเพลงสักเพลงหนึ่งเป็นเพลงของคณะวิทยาศาสตร์

                 ผมได้นำความคิดนี้ไปหารือกับพี่วันเนาว์ (รศ.วันเนาว์ ยูเด็น1) เพื่อขอให้ช่วยแต่งเพลงนี้ หลังจากนั้นไม่นาน พี่วันเนาว์ก็นำเนื้อร้องมาให้ผมดูที่ ม.อ. หาดใหญ่  พร้อมกับนำแอคคอเดียนมาบรรเลงเป็นทำนองให้ฟังด้วย โดยพี่วันเนาว์บอกกับผมว่าใช้เวลานานพอสมควรในการแต่งเพลงนี้ เพราะเพลงที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้น กว่าจะแต่งให้เนื้อร้องมีความสละสลวย และมีความกลมกลืนกับเสียงดนตรีนั้น ทำได้ค่อนข้างยากมาก

                 ผมได้นำเพลง  “ ฝากหัวใจไว้ที่วิทยาศาสตร์ ”  ที่เพิ่งแต่งเสร็จ  รวมทั้งเพลงอื่นๆ  ที่อยู่ในชุด  เข้ากรุงเทพฯ เพื่อมอบให้กับ
    “ พี่พิมพ์ ” (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์2) ซึ่งรับจะเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงชุดนี้ให้

                 “ พี่พิมพ์ ” ได้ให้คำแนะนำว่า เพลงนี้น่าจะทำเป็นเพลงคู่ ซึ่งผมก็เห็นด้วย โดยผมกำหนดให้นักร้องชายที่จะเป็นผู้ขับร้องเพลงเพลงนี้ คือ พี่ปื๊ด (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา3) ส่วนนักร้องหญิง พี่พิมพ์บอกว่าให้ “ หมู ” (ดาวใจ ไพจิตร4) เป็นคนร้อง

     

    ดาวใจ ไพจิตร และ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ในห้องบันทึกเสียงเจ้าพระยาสตูดิโอ
     
                 เพลงนี้ บันทึกเสียงที่เจ้าพระยาสตูดิโอ ถนนอรุณอัมรินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมีพี่วันเนาว์และพี่มะเนาะ เข้าฟังการบันทึกเสียงด้วย
     
    ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา กำลังซ้อมเพลง
    กับ พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
    ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, ผศ.มะเนาะ ยูเด็น
    และ รศ.วันเนาว์ ยูเด็น
     
                 การบันทึกเสียงเพลง “ ฝากหัวใจไว้ที่วิทยาศาสตร์ ” ในวันนั้น เสร็จสิ้นลงด้วยความพอใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่งเพลง (ผศ.วันเนาว์ ยูเด็น) ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์) รวมทั้งตัวผมเองด้วย
                 เพลงนี้ นอกจากจะมีความไพเราะแล้ว ยังมีจุดเด่นที่ท่วงทำนองของเพลงสอดรับ คล้องจองกันได้ดีเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่เสียงร้องของนักร้องทั้ง 2 ท่าน แตกต่างกันอย่างมากด้วยลีลาการร้องและโทนเสียง เพราะโทนเสียงของคุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา จะค่อนข้างทุ้ม นุ่มลึก ส่วนของคุณดาวใจ ไพจิตร จะใสและกังวานแหลม แต่ด้วยความสามารถของนักร้องและฝีมือของคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน จึงทำให้เพลงนี้มีความไพเราะ ชวนฟังยิ่งขึ้น
     

    1. รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น
          อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

       
    2. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
          ครูเพลงนักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดังเจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ


         เพลง “ ไทยธำรงไทย ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
         เพลง “ น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
         เพลง “ ตะแลงแกงแทงใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
         เพลง “ พะวงรัก ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
         เพลง “ สุดเหงา ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

       
    3. ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
          ศิลปินมากความสามารถ มีผลงานด้านร้องเพลง แสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ มากมาย เพลงแรกที่ร้องอัดแผ่นเสียง คือ  “ เอื้องดอกฟ้า ”  มีลีลาการร้องทอดเสียงออดอ้อนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองจนได้รับฉายานักร้องเสียงระทม เพลงที่ร้องล้วนแล้วได้รับความนิยมทั้งสิ้น  อาทิ เดือนต่ำดาวตก  หอรักหอร้าง  นารี  อยู่เพื่อคอยเธอ วันคอย นกเอี้ยงจ๋า
    ยามชัง เพื่อความรัก ไกลชู้ ฐานันดรรัก ดึกเอยดึกแล้ว ไม่รักไม่ว่า ฯลฯ

          -  เป็นอดีตหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี “ สามศักดิ์ ”
          -  ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 3 ครั้ง          จากเพลงแมวเหมียว ใกล้เข้ามาแล้ว และ ไร้อารมณ์
          -  ได้รับรางวัลเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม
             ราชกุมารี ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงไทยสากล โดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจนในปี พ.ศ.
             2534
       

    4. ดาวใจ ไพจิตร
          นักร้องเพลงไทยสากลอาชีพ ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด ระหว่างปีพ.ศ. 2515 – 2525 ได้รับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล
          -  เพลงยอดนิยมยอดเยี่ยม เสาอากาศทองคำของสถานีวิทยุเสียงสามยอด ประจำปี
             พ.ศ. 2518 ในเพลง “ อย่ามารักฉันเลย ”
          -  ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำของสถานีวิทยุเสียงสามยอด ประจำปี 2531 ประเภทนัก
             ร้อง ในเพลง “ หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา ”
          -  ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในเพลง “ น้ำตาดารา ” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม
            2523
          -  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้ขับร้องเพลง โดยใช้ภาษาไทยที่ถูก
             ต้อง ชัดเจนที่สุด จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 9
             สิงหาคม พ.ศ. 2534
            เพลงที่ได้รับความนิยม ได้แก่ คืนทรมาน ทำไมถึงทำกับฉันได้ นางฟ้าที่ถูกลืม ยิ่งกว่าการฆ่า ส่วนเกิน ส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ

    ถ่ายทอดข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
     

     

    ปัญหาข้อที่ 2 :
     
    คำถาม :

    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดรับนักศึกษาคณะใดเป็นคณะแรก

     
     
     
    ก) คณะวิศวกรรมศาสตร์
    ข) คณะศึกษาศาสตร์
    ค) คณะวิทยาศาสตร์
     
     
    คำตอบ :

    ก) คณะวิศวกรรมศาสตร์

       

    เกร็ดความรู้


                 ในปีการศึกษา 2510 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นคณะแรก เป็นจำนวน 50 คน

                 ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์คนแรก ได้แก่ ดร.นาท ตัณฑวิรุฬห์

        นักศึกษารุ่นนี้ ใช้อาคารของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
        ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา เป็นที่เรียน  (ปัจจุบันคือ คณะเภสัชศาสตร์
        มหาวิทยาลัยมหิดล) และเรียนอยู่ที่นี่จนกระทั่งจบการศึกษา ในปี พ.ศ. 2514
     
                  สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่นักศึกษาคณะวิศวฯ จะต้องเรียน อาทิ เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ จะมีอาจารย์ของ ม.อ. เอง เป็นผู้สอน อาทิ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร, ดร.เย็นใจ เลาหวนิช, ดร.วิมลยุตต์ วรรณสว่าง เป็นต้น และจะมีผู้สอนอีกส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาช่วยสอน

    ดร.ประดิษฐ์ เชยจิตร
    ดร.เย็นใจ เลาหวนิช
    ดร.วิมลยุตต์ วรรณสว่าง

                  นักศึกษาจะเลือกภาควิชาที่เรียนในชั้นปีที่ 3 โดยในขณะนั้นมีภาควิชาทั้งสิ้น 3 ภาควิชา คือ ภาควิชาโยธา ภาควิชาเครื่องกล และภาควิชาไฟฟ้า โดยในแต่ละภาควิชามีอาจารย์ของ ม.อ. เอง เป็นผู้สอนและคอยดูแลนักศึกษา




                  สำหรับการเรียน Engineering Practice หรือเรียกว่า เรียน shop ประเภทงานเชื่อม งานกลึง งานตะไบ จะไปฝากเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
     
     
                  บัณฑิตวิศวฯ รุ่นแรกที่จบการศึกษา มีจำนวนเพียง 13 คน ในจำนวนนี้มีเกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 2 คน เนื่องจากจำนวนบัณฑิตที่จบในรุ่นนี้มีน้อยเกินไป จึงไม่มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้น

                  ในปีต่อมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 31 สิงหาคม 2515 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุม   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
    โดยมีบัณฑิตวิศวฯ รุ่นแรก (ปีการศึกษา 2513) และบัณฑิตวิศวฯ รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2514) เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้ง 2 รุ่นพร้อมกัน รวมทั้งบัณฑิตศึกษาศาสตร์รุ่นแรก (ปีการศึกษา 2514) ก็เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ด้วย
     
    ข้อมูลจากคำบอกเล่าของ
    อ.สมพร เหรียญมโนรมย์ และ อ.สมชัย โภชนจันทร์(ศิษย์เก่าวิศวฯ รุ่นแรก)
    และภาพจากหนังสืออนุสรณ์วิศวฯ ปี 2511 – 2512 และ ปี 2513
    อ.มนัส กันตวิรุฒ...รวบรวมและเรียบเรียง



    เฉลยปัญหาประจำเดือน เมษายน 2552

    ปัญหาข้อที่ 1 :
     
     
    “ รักทะเล อันกว้าง ใหญ่ไพศาล 
    รักท้องฟ้า โอฬาร สีสดใส
    รักท้องทุ่ง ท้องนา ดังดวงใจ
    รักป่าเขา ลำเนาไพร แสนสุนทร "
     
     
    คำถาม :
    เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ ชื่อเพลงอะไร
     
     
     
    ก) ดวงใจกับความรัก
    ข) ภิรมย์รัก
    ค) รัก
    ง) รักคืนเรือน
       
    คำใบ้ :
    เนื้อร้องของเพลงนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้
       
    คำตอบ : ค) รัก {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/Rak-full-april09.mp3{/audio}

      

    เกร็ดความรู้

     

                        เพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537

     
                 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอนสุภาพ 3 บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลงนี้ให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ต่อมา  เมื่อทรงแก้ไขแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน  เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2538 ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” แก่แขกผู้ได้รับเชิญทุกโต๊ะไว้ล่วงหน้า ต่อมา ก็เชิญแขกผู้ได้รับเชิญ อาทิ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และนายทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์บนเวทีทีละโต๊ะจนทั่วถ้วน  โดยทรงบรร
    เลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. 100 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538

                           (จากหนังสือ “ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน” จัดทำโดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2539)

    ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ 
    ปัญหาข้อที่ 2 :
     
    คำถาม :

    พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี อยู่ในสังกัดหน่วยงานใด

     
     
     
    ก) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี
    ข) คณะวิเทศศึกษา วิทยาเขตภูเก็ต
    ค) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
    ง) คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
     
     
    คำตอบ :

    ง) คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

       

    เกร็ดความรู้



                  พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี  ดำเนินงานอยู่ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยทั้งพืชและสัตว์ การฝึกอบรม และการให้ความรู้ด้านธรรมชาติศึกษาและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังดำเนินกิจกรรมและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ภาคใต้ โดยเข้าร่วมสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราช
    ดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย
     
                  ปี พ.ศ.2549 มหาวิทยาลัยฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งอยู่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   สยามบรมราชกุมารี  ทรงเจริญพระชนมาย ุ 50  พรรษา  ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงพระราชทานชื่อพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ และเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มกราคม 2551

                  พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ ในอาคารสูง 3 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการ 2 ส่วน คือ
                  1. ส่วนนิทรรศการ (Exhibition) จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก มีการจัดแสดงตัวอย่างหิน แร่ และซากฟอสซิลที่ค้นพบในประเทศไทย ตื่นตาตื่นใจกับแบบจำลองมหายุคต่างๆของโลก และป่าโบราณยุคคาร์บอนิเฟอรัสที่ไม่สามารถหาชมได้จากที่อื่น


                  นิทรรศการชั่วคราวที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบเครื่องเล่นและหุ่นจำลองที่ผู้ชมสามารถสัมผัส จับต้องได้  รวมทั้งการนำตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ได้แก่ แมลง ปะการัง สัตว์เลื้อยคลาน มาจัดแสดงตลอดจนการจำลองระบบนิเวศธรรมชาติทั้งบนบกและในน้ำ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทั้งสิ่งมีชีวิตและแหล่งที่อยู่อาศัยควบคู่กัน
     
       
     
                  2. ส่วนตัวอย่างสำหรับอ้างอิง (Reference collection) เป็นส่วนของตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ที่มีการเก็บรวบรวมและจำแนกชนิดอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีตัวอย่างพืชเก็บรวบรวมไว้โดยเฉพาะพืชที่พบในคาบสมุทรไทยประมาณ  30,000  ตัวอย่าง  สำหรับตัวอย่างสัตว์ ได้แก่ ผีเสื้อที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยกว่า 800 ชนิด อีกทั้งปะการัง  หอย ปลา ค้างคาว แพลงก์ตอน และ
    สิ่งมีชีวิตอีกหลากหลายชนิด รวมทั้งตัวอย่างต้นแบบ (type specimens) ที่เป็นชนิดใหม่ของโลก หรือตัวอย่างที่พบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยจำนวนมาก
     
     
                  พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี เปิดให้ชม ตั้งแต่วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.30 – 16.30 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
    อื้อเฟื้อภาพและข้อมูลโดย... พรรณี สอาดฤทธิ์
    พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษาสยามบรมราชกุมารี
    เรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ



    ติดต่อเรา

    หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
    อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

    PSU Hall of History
    15 Karnchanavanich Road,
    Hat Yai, Songkhla 90110

    ♦️ ติดต่อสำนักงาน
    โทรศัพท์ 0-7428-2990
    โทรสาร 0-7428-2999

    ♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
    โทรศัพท์ 0-7428-2993

    ♦️ Email  : psuhistory@psu.ac.th

    ♦️ แผนที่ 
     Facebook

    เครือข่ายหอประวัติ

    ♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
    ♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
    ♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
    ♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
    ♦️ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
    ♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
    ♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
    ♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    ♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
    ♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

    นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

    เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน