เฉลยปัญหาประจำเดือน กันยายน 2550
ปัญหาข้อที่ 1 : | |
คำถาม : | “แดนศึกษา...สงขลานครินทร์ ทั่วทุกถิ่นข้ามฟ้ามาสิงขร ต่างมาร่วมชีวันนิรันดร เพื่อขจรนามพระองค์ดำรงไทย” |
เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง | |
คำตอบ : | ชื่อเพลง “แดนสรวง” ขับร้องโดย คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/แดนสรวงเต็ม.mp3{/audio} |
เกร็ดความรู้
จากการติดตามค้นหาข้อมูล ทราบว่า เพลง “แดนสรวง” แต่งโดยอดีตนักศึกษา รุ่นที่ 6 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีคุณโอฬาร จวนเย็น1 เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง และคุณบุญส่ง หาญพานิช 2 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ทั้งคุณโอฬารและคุณบุญส่งได้เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า เพลงนี้ได้เล่นเป็นครั้งแรก ในงานต้อนรับน้องใหม่ช่วงกลางคืน เนื่องจากเป็นประเพณีของคณะศึกษาศาสตร์ ที่รุ่นพี่จะให้น้องใหม่แต่งเพลงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเพื่อบรรเลงในงาน
เมื่อปลายปี 2526 อาจารย์ประสาท มีแต้ม 3 นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีดำริจะจัดทำเทปเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ขึ้น (หน้าปกเทปสีฟ้าที่เราเคยนำเสนอหลายครั้ง ซึ่งหลายๆ คนคงจะจำกันได้) เนื่องจากในขณะนั้น เพลงประจำมหาวิทยาลัย มีเพียงแค่ 4 เพลง คือ เขตรั้วสีบลู สงขลานครินทร์ ถิ่นศรีตรัง และ รำวงน้องก็อีกราย ซึ่งเป็นเพลงที่บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยได้บันทึกเป็นแผ่นเสียงขนาดเล็ก ความเร็ว 45 RPM แต่การจะทำเทปคาสเซ็ท ซึ่งจะมีเพลงเพียงแค่ 4 เพลงนั้น นับว่าน้อยเกินไป จึงได้มีการรวบรวมเพลงต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ม.อ. ซึ่งยังไม่เคยมีการบันทึกเสียงมาก่อน เพียงแต่นำมาร้องเล่นกันในหมู่นักศึกษา จำนวน 6 เพลง เพลงเหล่านี้แต่งโดยศิษย์เก่าและอาจารย์จาก ม.อ.ปัตตานี มารวมกับ 4 เพลงข้างต้น เพื่อจะนำไปบันทึกเสียงใหม่ ในรูปแบบเทปคาสเซ็ท โดยใช้ชื่อชุดว่า “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” โดยการจัดทำครั้งนั้น ทางอาจารย์ประสาท มีแต้ม ได้มอบให้อาจารย์มนัส กันตวิรุฒ นายกสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ม.อ.หาดใหญ่ ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานงานการจัดทำตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งแล้วเสร็จ |
เทปเพลงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” |
ก่อนที่ อ.มนัส จะนำเพลงทั้งหมดจำนวน 10 เพลง ไปบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงในกรุงเทพฯ อ.มนัส ได้นำเพลง 6 เพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งมีเพลง “แดนสรวง” รวมอยู่ด้วย ไปให้ คุณมนตรี สุปัญโญ 4 ช่วยตรวจและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งจัดทำโน้ตเพลงให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทางดนตรี หลังจากนั้นจึงนำขึ้นไปกรุงเทพฯ ให้คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ 5 เรียบเรียงเสียงประสานให้
คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส กำลังซ้อมร้องเพลง “แดนสรวง” กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ณ ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ดินแดง กรุงเทพฯ |
การบันทึกเสียงเทปเพลงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ในครั้งนั้น บันทึกกันที่ห้องบันทึกเสียง “ศรีสยาม” ดินแดง กรุงเทพฯ ในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2527 โดยในวันบันทึกเสียงเพลง “แดนสรวง” คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส 6 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้ร้องเพลงนี้ หลังจากที่ได้ซ้อมและบันทึกเสียงในครั้งแรกแล้ว คุณรุ่งฤดีบอกว่า คุณภาพและโทนเสียงที่ออกมายังไม่สดใสเท่าที่ควร จึงตั้งใจจะกลับมาบันทึกเสียงให้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยในคืนนั้น คุณรุ่งฤดีถึงกับหยุดงานร้องเพลงที่ร้องประจำตามห้องอาหารต่างๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพื่อเป็นการถนอมเสียง ให้เพลงที่บันทึกออกมามีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ด้วยความเป็นศิลปินที่พิถีพิถันในงานเพลงของคุณรุ่งฤดีในครั้งนั้น มีส่วนทำให้เพลง “แดนสรวง” เป็นอีกเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ กินใจ และถูกใช้เป็นเพลงเปิดและปิดของสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ. FM 88) ในเวลาต่อมา |
1. โอฬาร จวนเย็น ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รุ่น 6 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการ 7 ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรุงเทพมหานคร |
2. ดร.บุญส่ง หาญพานิช ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รุ่น 6 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพมหานคร |
3. ผศ.ประสาท มีแต้ม ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ รุ่นที่ 1 อดีตนายกสมาคมนักศึกษาเก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ |
4. มนตรี สุปัญโญ หรือที่บุคลากรรุ่นแรกๆ ของ ม.อ.จะรู้จักในนาม “พี่หมู” นับเป็นผู้มีคุณูปการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในด้านการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่า เพลงของ มอ. ทุกเพลง (ยกเว้น 4 เพลงดั้งเดิมที่วงสุนทราภรณ์แต่งให้) เกิดขึ้นได้เพราะพี่หมู ท่านได้เสียสละให้คำปรึกษาแนะนำ หลักวิชาการดนตรีและบทเพลง รวมทั้งจัดทำโน้ต จนกระทั่งงานเพลงของมหาวิทยาลัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยจัดงานใดๆ พี่หมูจะมาเล่นดนตรีให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนอยู่เป็นนิจสิน |
มนตรี สุปัญโญ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีเมืองไทย ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเป็นเลิศทางดนตรี และเล่นดนตรีได้หลายประเภท คุณมนตรีเกิดในตระกูลศิลปิน เป็นพี่ชายของคุณฉันทนา กิติยพันธ์ คุณสรายุทธ สุปัญโญ และเป็นลุงของคุณเสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม) หลังจากคุณมนตรีออกจากวง “สุเทพโชว์” ได้ก่อตั้งวง “จามรี” ขึ้น และตระเวนเล่นในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ ในยุค GI กำลังเฟื่องฟู ต่อมาประมาณปี 2518 เมื่อโรงแรมโฆษิต หาดใหญ่ สร้างเสร็จ คุณมนตรีได้รับการติดต่อให้นำวงมาเล่นประจำที่อะลาดินไนต์คลับ รวมทั้งเล่นอิเล็คโทนที่ห้องอาหารบุหงา โดยเล่นอยู่เป็นเวลานานกว่าสิบปี ต่อมาได้ย้ายไปเล่นที่โรงแรมอีกหลายแห่งในหาดใหญ่ ท่านได้จากไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ด้วยโรคมะเร็งตับ ด้วยวัยเพียง 63 ปี |
คุณมนตรี สุปัญโญ จัดวงดนตรีรวมการเฉพาะกิจ บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์แสดงในพิธีเปิดงาน “พระบารมีปกเกล้าชาวใต้” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 |
5. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ |
6. รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส อดีตนักร้องดาวรุ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของผลงานเพลง “พัทยาลาก่อน” มีเพลงที่สร้างชื่อเสียงในชีวิตการร้องเพลงมากมาย อาทิ เพลงเอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง เพลงแม่สอดสะอื้น เพลงคนหน้าเดิม เพลงช่างเขาเถิดนะหัวใจ เพลงหลานย่าโม เพลงแฟนซีชีวิต เพลงเธอคือดวงใจ เพลงแบ่งเวลาไปหาฉันบ้าง ฯลฯ |
ถ่ายทอดข้อมูลและเรียบเรียงโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ปัญหาข้อที่ 2 : | |
คำถาม : | มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี แล้วยังมี 3 เขตการศึกษาอีกด้วย อยากทราบว่า 3 เขตการศึกษานั้น มีชื่อว่าอะไรบ้าง (ไม่ต้องเรียงตามลำดับการเกิด) |
คำตอบ : | เขตการศึกษาภูเก็ต เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี และ เขตการศึกษาตรัง |
เกร็ดความรู้
เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี 3 แห่ง ดังนี้
เขตการศึกษาภูเก็ต เป็นเขตการศึกษาที่เน้นทางด้านอุตสาหกรรมบริการที่เอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว การรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติ ปัจจุบันมีหน่วยงานภายในทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน คือ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต คณะอุตสาหกรรมบริการ และคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีนักศึกษาทุกระดับประมาณ 2,474 คน |
เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี มุ่งเน้นสาขาวิชาทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตและการแปรรูปเชิงเกษตรอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีหน่วยงานภายในทั้งสิ้น 3หน่วยงาน คือวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี คณะเทคโนโลยีและการจัดการ และคณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันมีนักศึกษาทุกระดับประมาณ 1,814 คน |
เขตการศึกษาตรัง มุ่งเน้นสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ประยุกต์ ธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในเชิงธุรกิจและการจัดการ ปัจจุบัน มีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เป็นหน่วยงานภายใน มีนักศึกษารวมทุกระดับประมาณ 2,543 คน |
สาระน่ารู้
ระบบของมหาวิทยาลัยแต่เดิมจะเรียกเขตการศึกษาเหล่านี้ว่า โครงการจัดตั้งวิทยาเขต เนื่องจากยังไม่มีสภาพเป็นวิทยาเขตสมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ. (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ปี 2522 ) ที่ต้องมีตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป (โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง) ในวิทยาเขต
แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดย 2 ปัจจัยหลักประกอบกันคือ นโยบายรัฐบาลในการชะลอการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ประกอบกับการปรับโครงสร้างโดยยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การจัดตั้งหน่วยงานโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ขึ้นในวิทยาเขตใหม่เป็นไปได้ยาก ซึ่งหมายความรวมถึง การเป็นวิทยาเขตทั้ง 3 แห่ง ตาม พ.ร.บ.ของ ม.อ.เสมือนโดนชะลอออกไปเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อไม่ให้คำว่า โครงการจัดตั้ง ติดอยู่กับวิทยาเขตใหม่ตลอดไป มหาวิทยาลัยจึงศึกษาเพื่อหาทางออก และต้องสอดรับกับ พ.ร.บ.ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันด้วยจึงได้ เสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอกำหนดการเรียกชื่อเป็น เขตการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2547 เป็นต้นไป
ประสานงานและติดตามข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล โดย คุณผดุงศักดิ์ อรนพ