เฉลยปัญหาประจำเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “โอ้ศรีสถาบัน    ที่เราทั่วกันพลันได้มาศึกษา
รู้และเรียน ศาสตร์นานา พาก้าวไกล”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และฉบับดั้งเดิมใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “เขตรั้วสีบลู” ฉบับดั้งเดิมขับร้องโดย คุณบุษยา รังสี
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/เขตรั้วสีบลู_เต็มใหม่.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

    
แผ่นเสียง เพลง "สงขลานครินทร์"
ความเร็ว 45 RPM        
               เพลง “เขตรั้วสีบลู” เป็นเพลงในยุคแรกเริ่มสมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัย นับเป็น 1 ใน 4 เพลงที่วงดนตรีสุนทราภรณ์แต่งให้ โดยการบันทึกเสียงครั้งแรก บันทึกในรูปแบบ แผ่นเสียงความเร็ว 45 RPM เพลงนี้เป็นเพลงที่มีความไพเราะมาก และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อร้องมีความหมายกินใจ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เป็นอย่างดี
               เพลงเขตรั้วสีบลู ได้ถูกนำมาใช้เปิดในงานสำคัญๆ ของมหาวิทยาลัยมากมาย อาทิ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อองค์ประธานเสด็จเข้าภายในห้องประชุม จะมีการเปิดเพลงเขตรั้วสีบลู หลังจากนั้น จะมีขบวนอัญเชิญตราประจำมหาวิทยาลัย นำผู้ที่ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ และผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง อาจารย์ดีเด่นเข้าสู่บริเวณพิธี ต่อจากนั้นพิธีการพระราชทาน ปริญญาบัตรจึงได้เริ่มขึ้น
               พิธีอัญเชิญตราประจำมหาวิทยาลัยนี้ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 17 ปีการศึกษา 2530 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2531 ณ วิทยาเขตหาดใหญ่ ต่อหน้าที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จมาเป็นองค์ประธาน หลังจากนั้น พิธีนี้ก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
               ในปี 2527 เพลง “เขตรั้วสีบลู” ได้ถูกจัดทำขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยนำมารวมอยู่ในเทปเสียงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งทำออกมาจำหน่ายในรูปแบบเทปคาสเซ็ท เทปชุดนี้จัดทำโดยสมาคมนักศึกษาเก่า ม.อ.
 
เทปเพลงชุด
"มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง"

เทปซีดีเพลงมหาวิทยาลัย ชุด "ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จ
พระบรมราชชนก" จัดทำเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์
               ต่อมาในปี 2544 ได้มีการจัดทำเทปและซีดีเพลงมหาวิทยาลัยชุด “ตามรอย พระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชชนก” ขึ้น สำหรับเพลง “เขตรั้วสีบลู” ถูกนำมารวบรวมไว้ในเทปและซีดีชุดนี้ด้วย โดยจัดทำเป็น 2 เวอร์ชั่น
               เวอร์ชั่นแรกเป็นต้นฉบับดั้งเดิมที่บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยมี คุณพร พิรุณ* เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง, ครูเอื้อ สุนทรสนาน** เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง, คุณบุษยา รังสี*** เป็นผู้ขับร้อง  

               ส่วนเวอร์ชั่นที่สอง คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์**** นักเรียบเรียงเสียงประสาน รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ได้นำมาจัดทำใหม่ในรูปแบบของเพลงประสานเสียง โดยมี คุณศรวณี โพธิเทศ***** นักร้องแผ่นเสียงทองคำพระราชทานเป็นผู้ขับร้อง และประสานเสียงโดยนักร้องประสานเสียง กรมศิลปากร

                 * พร พิรุณ ผู้ประพันธ์คำร้องอีกท่านหนึ่งประจำวงสุนทราภรณ์ เป็นเจ้าของผลงานเพลงขอให้เหมือนเดิม, เพลงรอยมลทิน, เพลงใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, เพลงผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน, เพลงกว่าจะรักกันได้, เพลงหาดผาแดง ฯลฯ และได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี 2503 จากเพลงขอปันรัก
                ** ครูเอื้อ สุนทรสนาน อดีตหัวหน้าวงสุนทราภรณ์ ผู้ประพันธ์คำร้อง และผู้ขับร้องเพลงที่มีความไพเราะมากมาย อาทิ ขอให้เหมือนเดิม นางฟ้าจำแลง นวลปรางนางหมอง กังหันต้องลม ขอพบในฝัน ฯลฯ
               *** บุษยา รังสี นักร้องยอดนิยมของวงดนตรีสุนทราภรณ์อีกท่านหนึ่ง มีผลงานเพลงอมตะมากมาย อาทิ เพลงฝากหมอน, เพลงกระซิบสวาท, เพลงหนองบัว, เพลงถิ่นไทยงาม, เพลงฝนหยาดสุดท้าย และเพลงรักวันเติมวัน
               **** พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ
พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ กับนักร้องประสานเสียง
กรมศิลปากร ในเพลงเขตรั้วสีบลู

ศรวณี โพธิเทศ
กำลังบันทึกเสียงในเพลงเขตรั้วสีบลู
               ***** ศรวณี โพธิเทศ อดีตนักร้องดาวรุ่ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของผลงานเพลงเธอเท่านั้น เคยได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ จากเพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ฯลฯ

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : ดอกไม้ชนิดใด เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
   
คำตอบ     : ดอกศรีตรัง
   

เกร็ดความรู้

               เมื่อถึงฤดูกาลในแต่ละปี ศรีตรังจะออกดอกบานเต็มต้น ดอกมีสีม่วง สวยงามมาก ถึงแม้ว่าดอกจะร่วงโรยลงสู่พื้นดินแล้ว พื้นดินที่ปกคลุมด้วยดอกศรีตรังนั้นเหมือนถูกระบายด้วยสีสัน มีความสวยงามเกินคำบรรยายใดๆ

               เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2516 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จมาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในการเสด็จมาครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปลูกต้นศรีตรังที่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี (เดิม) ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงานบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ ต้นศรีตรังทั้ง 2 ต้นที่ทรงปลูก ได้เจริญเติบโตประดับเด่นเป็นศรีสง่าแห่งมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน

               คุณอมร ศรีวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบตึกฟักทองและอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข อดีตอธิการบดี ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านมีความนิยมชมชอบต้นศรีตรังมาก นอกจากจะให้ปลูกในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ท่านยังนำไปปลูกไว้ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีอยู่ ซึ่งปัจจุบัน ต้นศรีตรังจำนวนหลายสิบต้นเหล่านั้น ยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ภายในบริเวณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ข้อมูลเพิ่มเติม โดย คุณเรณู ชมชาญ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน