เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤศจิกายน 2550
ปัญหาข้อที่ 1 : | |
คำถาม : | “ยาม เมื่อยามท้อแท้ ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง ยามร้อน ศรีตรังยัง แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย” |
เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง | |
คำตอบ : | ชื่อเพลง “พริ้วศรีตรัง” ขับร้องโดย “จิตติมา เจือใจ” {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/พริ้วสีตรัง.mp3{/audio} |
เกร็ดความรู้
เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ แต่งขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2518 ในช่วงใกล้ปิดภาคการศึกษาที่ 2 โดยมี คุณวัชรินทร์ ไตรวุฒานนท์1 อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 5 เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และ คุณสำรวย ทรัพย์เจริญ2 อดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง
คุณวัชรินทร์ ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ว่าได้เคยรับปากกับคุณสำรวยไว้ว่าจะเขียนเพลงให้สักเพลงหนึ่งโดยคุณสำรวยจะเป็นผู้แต่งทำนอง จนกระทั่งเวลาผ่านไปใกล้ปิดภาคเรียน คืนนั้นพระจันทร์ส่องสว่าง ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย คุณวัชรินทร์ได้เดินออกจากหอพักนักศึกษาไปตามถนนจนถึงบริเวณซ้ายมือเป็นคาเฟทีเรีย ริมถนนมีต้นศรีตรังที่พี่น้องชาว ม.อ.ช่วยกันปลูกไว้ งามบ้าง โทรมบ้าง ลมพัดกิ่งก้านไหวไปมา ทัศนียภาพยามนี้ทำให้คุณวัชรินทร์ขึ้นท่อนแรกของเพลงได้
“พริ้ว ปลิวศรีตรัง ต้านลมโชย โบกโบยอยู่นิรันดร์กาล
ดอกสีม่วง แผ่กลีบดอกบาน นานแสนนาน บานกลางหัวใจ”
สำหรับท่อนที่ 3 ของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ที่นำมาเป็นปัญหาประจำเดือนพฤศจิกายน 2550 นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากขณะที่คุณวัชรินทร์เดินไปตามถนนรอบอ่างเก็บน้ำ มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งสวนทางมา แล้วก็จอดกะทันหันห่างจากคุณวัชรินทร์ 50 เมตร ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใช้ไม้จากบริเวณนั้นเขี่ยงูให้พ้นไปจากถนน ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์นั้น คุณวัชรินทร์บอกว่าทราบภายหลังว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่อาจารย์กับคุณวัชรินทร์ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความเอื้ออาทร เกรงว่างูอาจจะทำร้ายคุณวัชรินทร์ อาจารย์จึงยอมเสียสละเวลาทำสิ่งที่คิดว่าเป็นความปลอดภัยของคุณวัชรินทร์ น้ำใจที่คุณวัชรินทร์ได้พานพบ เป็นภาพชีวิตจริงในร่มศรีตรัง เนื้อเพลงท่อนที่ 3 จึงเกิดขึ้นในตอนนั้น
“ยาม เมื่อยามท้อแท้ ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง
ยามร้อน ศรีตรังยัง แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย”
จิตติมา เจือใจ กำลังซ้อมร้องเพลง “พริ้วศรีตรัง” กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ในห้องบันทึกเสียง ศรีสยาม กทม. (มีนาคม 2527) |
เพลง “พริ้วศรีตรัง” เป็น 1 ใน 6 เพลง ที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปรวมกับ 4 เพลงที่มีอยู่เดิม ซึ่งแต่งและบรรเลงโดยวงดนตรีสุนทรา -ภรณ์ หลังจากนั้นจึงนำมารวมไว้ในเทปเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดทำขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2527 เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ ได้มอบให้ คุณจิตติมา เจือใจ3 เป็นผู้ขับร้อง โดยมี คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์4 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน |
ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ได้มีการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของเทปและซีดี โดยใช้ชื่อชุดว่า “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” การจัดทำครั้งนี้จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ก็ได้มีการนำเอาเพลง “พริ้วศรีตรัง” มารวมไว้เช่นกัน
1. วัชรินทร์ พุทธพรไพสิฐ (ไตรวุฒานนท์) ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 5 อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีการศึกษา 2518 ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการบริการสวัสดิการและสำนักงาน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) |
2. แพทย์หญิงเพ็ญนภา (สำรวย) ทรัพย์เจริญ ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข |
3. จิตติมา เจือใจ นักร้องยอดนิยมในอดีต มีผลงานเพลงที่มีความไพเราะและอมตะหลายเพลง อาทิ ถ้าหัวใจฉันมีปีก, หลักไม้เลื้อย, กาลเวลา, ไม่มีวันที่โลกจะหมุนกลับ, โชคดียอดรัก, ตัดไม่ขาด ฯลฯ |
4. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ |
ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ปัญหาข้อที่ 2 : | |
คำถาม : | บุคคลที่อยู่ด้านซ้ายของภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน |
คำใบ้ : | บุคคลท่านนี้เคยเป็นอดีตอธิการบดีของ ม.อ. |
คำตอบ : | ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ |
เกร็ดความรู้
ภาพนี้เป็นภาพ Farewell Party เมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2525 ณ อาคารสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ในการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่าง Universiti Sains Malaysia กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดขึ้น การจัดครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนที่ 6 วาระการดำรงตำแหน่ง กรกฎาคม 2522 - มิถุนายน 2528 (2 วาระติดกัน) |
ประวัติการศึกษา
- แพทยศาสตรบัณฑิต (เหรียญทองคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร) จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (2495)
- Doktor der Medizin (Dr.med) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก สหพันธรัฐเยอรมัน (2500 - 2502)
- M.Ed จากมหาวิทยาลัย Illinois นคร Chicago มลรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา (2514)
ปริญญากิตติมศักดิ์
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2528)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2535)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2538)
- ปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2547)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร (2547)
ประวัติการทำงานที่สำคัญ
- พ.ศ. 2515 หัวหน้าหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษา
- พ.ศ. 2518 – 2521 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2521 ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรรมการแพทยสภา และประธานอนุกรรมการสอบความรู้ เพื่อขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- กรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
- ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกทางบุคลากรสาธารณสุขประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- พ.ศ. 2522 รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2522 – 2528 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2 วาระติดกัน)
- พ.ศ. 2529 – 2531 ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแพทยศาสตร์ศึกษา ประจำประเทศบังคลาเทศ
- พ.ศ. 2532 – 2533 ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายพัฒนาบุคลากร
- พ.ศ. 2533 รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย
- พ.ศ. 2539 – 2543 ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- พ.ศ. 2543 – 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา (พปค.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ
เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
- ได้รับเกียรติเป็นบุคลากรดีเด่น ประเภทความเป็นครู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2532)
- ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2534)
- ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัล เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์จากองค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่น ในด้านการพัฒนาองค์กรและวิชาการให้แก่สภากาชาดไทย
ผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดี
1. ดำเนินการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิทยาเขตปัตตานี
2. จัดตั้งสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยอิสลามศึกษา และวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
3. เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
4. รับนักเรียนจากโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น
5. จัดตั้งศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในการที่จะผสมผสานกลุ่มและบุคคลต่างๆ ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม
6. จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมราชชนกที่วิทยาเขตหาดใหญ่
7. ดำเนินการสืบเนื่อง จัดสร้างอาคารสำนักงานอธิการบดี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จนสำเร็จ
8. เวนคืนที่ดิน และดำเนินงานให้ผู้บุกรุกออกจากเขตมหาวิทยาลัย วิทยาเขตหาดใหญ่
9. ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จนแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในส่วน 100 เตียง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525
10. ผลักดันให้สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดำเนินการออกอากาศได้ในปี 2524
11. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การสอน การวิจัย และการประยุกต์ใช้ความรู้ และวิทยาการเพื่อพัฒนาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตก มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และมหาวิทยาลัยมิสซูรี
ข้อมูลจาก..หนังสือครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ