เฉลยปัญหาประจำเดือน ตุลาคม 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : : “รำวงกันเถิดนะ...ชาวเรา      จะมัวเฉยซึมเซา เหงาอยู่ทำไม
เราชาวสงขลานครินทร์มีสุข       มาร่วมสนุก มาซิจะทุกข์อยู่ใย”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “รำวงน้องก็อีกราย” ขับร้องโดย เลิศ ประสมทรัพย์ - ศรีสุดา รัชตะวรรณ (ร้องนำหมู่)
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/รำวงน้องก็อีกราย.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เพลง “รำวงน้องก็อีกราย” เป็นเพลงเพียงเพลงเดียวของเพลงประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เป็นจังหวะรำวง เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเพลงนี้ ความสนุกสนานครึกครื้นก็จะเข้ามาแทนที่ ความเงียบเหงาซืมเศร้าก็จะจางหายไป เพลงนี้จึงนิยมใช้เป็นเพลงเปิดฟลอร์ เมื่อมีงานสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่นงานสังสรรค์เนื่องในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
               เพลงนี้ เป็น 1 ใน 4 เพลงที่เกิดขึ้นในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นผู้ประพันธ์และบรรเลงให้ โดยเพลงทั้ง 4 เพลงนี้ทำออกมาจำหน่ายในรูปแบบแผ่นเสียง ความเร็ว 45 RPM ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2527 เมื่อสมาคมนักศึกษาเก่า ม.อ. จัดทำเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบเทปคาสเซ็ท และใช้ชื่อชุดว่า “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ก็ได้นำทั้ง 4 เพลงดั้งเดิมมารวมเอาไว้ด้วย แม้กระทั่งการจัดทำครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2544 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จัดทำขึ้นมาใหม่ในรูปแบบซีดีและเทปคาสเซ็ท โดยใช้ชื่อชุดว่า “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” ก็ยังมีเพลงดั้งเดิมทั้ง 4 เพลงรวมอยู่ในชุดนี้ด้วย
               เพลง “รำวงน้องก็อีกราย” ผู้ประพันธ์คำร้อง คือ คุณพร พิรุณ1 ผู้ประพันธ์ทำนอง คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน2 โดยมี คุณเลิศ ประสมทรัพย์3 และ คุณศรีสุดา รัชตะวรรณ4 ขับร้องนำหมู่

1. พร พิรุณ
               ผู้ประพันธ์คำร้องอีกท่านหนึ่งประจำวงสุนทราภรณ์ เป็นเจ้าของผลงานเพลงขอให้เหมือนเดิม, เพลงรอยมลทิน, เพลงใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, เพลงผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน, เพลงกว่าจะรักกันได้, เพลงหาดผาแดง ฯลฯ และได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี 2503 จากเพลงขอปันรัก           
2.ครูเอื้อ สุนทรสนาน
               อดีตหัวหน้าวงสุนทราภรณ์ ผู้ประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้องเพลงที่มีความไพเราะมากมาย อาทิ ขอให้เหมือนเดิม นางฟ้าจำแลง นวลปรางนางหมอง กังหันต้องลม ขอพบในฝัน ฯลฯ
3. เลิศ ประสมทรัพย์
               เป็นนักร้องที่อยู่กับวงสุนทราภรณ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน เลิศเป็นนักร้องชายที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักกันในแนวเพลงตลก ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวงสุนทราภรณ์
               เพลงที่ส่งให้เลิศมีชื่อเสียงมาก คือเพลง “ข้างขึ้นเดือนหงาย” และเพลง “ชมนาง” แต่เพลงที่ผู้ฟังนิยมชมชอบ คือเพลงจังหวะเร็ว ซึ่งแทรกความตลกไว้ในเพลง เช่น เพลงในจังหวะตะลุง และเพลงที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมในระหว่างการบรรเลง ได้แก่ เพลง “จุดไต้ตำตอ” และ “สาวหนุ่มบ้านแต้” ที่ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ ปัจจุบันคุณเลิศได้เสียชีวิตไปแล้ว
4. ศรีสุดา รัชตะวรรณ
               เป็นนักร้องหญิงประจำวงสุนทราภรณ์อีกคนหนึ่งที่เสียงดีมาก เสียงสูง ใส และกังวาน เป็นเอกลักษณ์ จนมีผู้ตั้งฉายาไว้หลากหลาย เป็นนักร้องหญิงที่ฉีกแนวจากการร้องเพลงรัก หวานๆ ช้าๆ มาเป็นแนวสนุกสนาน เร้าใจ
               ผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ศรีสุดามีมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่เป็นเพลงคู่ที่ร้องกับเลิศ ประสมทรัพย์ เช่น มองอะไร, สุขกันเถอะเรา, ฝนจ๋าฝน, ศรรัก, แมวกะหนู, บ้านเรือนเคียงกัน, ปากกับใจ และเพลงอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 300 เพลง รวมถึงเพลงจังหวะรำวง ตะลุง มาร์ช และเพลงสถาบันต่างๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดทำการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.ใด (กรุณาตอบเป็นตัวเลขปี พ.ศ.)
   
คำตอบ     : ข) พ.ศ. 2522
   

เกร็ดความรู้

               ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นสาขาที่ 108 ได้เปิดทำการเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2522 โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการของธนาคาร


รศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
กำลังทำพิธีเปิดแพรคุลมป้ายชื่อธนาคาร

              สถานที่ตั้งของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วงเริ่มต้น มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่บริเวณลานชั้นล่างของอาคารศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) ซึ่งปัจจุบัน คือที่ทำการของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


นายจอม เพชรรัตน์ (สวมเสื้อสีขาวด้านซ้าย) ผู้จัดการคนแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. กำลังคุยกับนายบุญเลิศ โรจนลักษณ์ (ด้านขวา) นายอำเภอหาดใหญ่ ในวันเปิดที่ทำการธนาคาร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2522
 
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคลากร ม.อ. กำลังเปิดบัญชีในวันเปิดที่ทำการธนาคาร

ผศ.เอื้อมชม เรืองกุล
               ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผู้จัดการคนแรกคือ นายจอม เพชรรัตน์ สำหรับบัญชีออมทรัพย์บัญชีแรก เลขที่บัญชี 565-2-00001-6 ผู้เปิดบัญชีคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอื้อมชม เรืองกุล อดีตอาจารย์สังกัดภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ปัจจุบันได้ลาออกจากราชการแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2543

               ต่อมา ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. ได้สร้างที่ทำการถาวรขึ้นใหม่ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอาคาร 2 ชั้น เมื่ออาคารเสร็จแล้ว ได้ย้ายมาเปิดดำเนินการ ณ อาคารหลังใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527

               ปัจจุบัน กิจการของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาโดยลำดับมีจำนวนบัญชี ทั้งสิ้น 134,562 บัญชี (สำรวจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550) ภายใต้การบริหารงานของผู้จัดการคนปัจจุบัน คือ คุณสมชาย วิทวัสการเวช

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย ธ.ไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ.

เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤศจิกายน 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ยาม เมื่อยามท้อแท้      ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง
ยามร้อน ศรีตรังยัง        แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “พริ้วศรีตรัง” ขับร้องโดย “จิตติมา เจือใจ”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/พริ้วสีตรัง.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

                เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ แต่งขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2518 ในช่วงใกล้ปิดภาคการศึกษาที่ 2 โดยมี คุณวัชรินทร์ ไตรวุฒานนท์1 อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 5 เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และ คุณสำรวย ทรัพย์เจริญ2 อดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง
               คุณวัชรินทร์ ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ว่าได้เคยรับปากกับคุณสำรวยไว้ว่าจะเขียนเพลงให้สักเพลงหนึ่งโดยคุณสำรวยจะเป็นผู้แต่งทำนอง จนกระทั่งเวลาผ่านไปใกล้ปิดภาคเรียน คืนนั้นพระจันทร์ส่องสว่าง ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย คุณวัชรินทร์ได้เดินออกจากหอพักนักศึกษาไปตามถนนจนถึงบริเวณซ้ายมือเป็นคาเฟทีเรีย ริมถนนมีต้นศรีตรังที่พี่น้องชาว ม.อ.ช่วยกันปลูกไว้ งามบ้าง โทรมบ้าง ลมพัดกิ่งก้านไหวไปมา ทัศนียภาพยามนี้ทำให้คุณวัชรินทร์ขึ้นท่อนแรกของเพลงได้

“พริ้ว ปลิวศรีตรัง ต้านลมโชย โบกโบยอยู่นิรันดร์กาล
ดอกสีม่วง แผ่กลีบดอกบาน นานแสนนาน บานกลางหัวใจ”

               สำหรับท่อนที่ 3 ของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ที่นำมาเป็นปัญหาประจำเดือนพฤศจิกายน 2550 นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากขณะที่คุณวัชรินทร์เดินไปตามถนนรอบอ่างเก็บน้ำ มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งสวนทางมา แล้วก็จอดกะทันหันห่างจากคุณวัชรินทร์ 50 เมตร ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใช้ไม้จากบริเวณนั้นเขี่ยงูให้พ้นไปจากถนน ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์นั้น คุณวัชรินทร์บอกว่าทราบภายหลังว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่อาจารย์กับคุณวัชรินทร์ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความเอื้ออาทร เกรงว่างูอาจจะทำร้ายคุณวัชรินทร์ อาจารย์จึงยอมเสียสละเวลาทำสิ่งที่คิดว่าเป็นความปลอดภัยของคุณวัชรินทร์ น้ำใจที่คุณวัชรินทร์ได้พานพบ เป็นภาพชีวิตจริงในร่มศรีตรัง เนื้อเพลงท่อนที่ 3 จึงเกิดขึ้นในตอนนั้น


“ยาม เมื่อยามท้อแท้ ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง
ยามร้อน ศรีตรังยัง แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย”


จิตติมา เจือใจ กำลังซ้อมร้องเพลง “พริ้วศรีตรัง”
กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ในห้องบันทึกเสียง
ศรีสยาม กทม. (มีนาคม 2527) 
               เพลง “พริ้วศรีตรัง” เป็น 1 ใน 6 เพลง ที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปรวมกับ 4 เพลงที่มีอยู่เดิม ซึ่งแต่งและบรรเลงโดยวงดนตรีสุนทรา -ภรณ์ หลังจากนั้นจึงนำมารวมไว้ในเทปเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดทำขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2527 
               เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ ได้มอบให้ คุณจิตติมา เจือใจ3 เป็นผู้ขับร้อง โดยมี คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์4 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน 

               ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ได้มีการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของเทปและซีดี โดยใช้ชื่อชุดว่า “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” การจัดทำครั้งนี้จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ก็ได้มีการนำเอาเพลง “พริ้วศรีตรัง” มารวมไว้เช่นกัน

1. วัชรินทร์ พุทธพรไพสิฐ (ไตรวุฒานนท์)
               ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 5 อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีการศึกษา 2518 ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการบริการสวัสดิการและสำนักงาน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
2. แพทย์หญิงเพ็ญนภา (สำรวย) ทรัพย์เจริญ
               ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
3. จิตติมา เจือใจ
               นักร้องยอดนิยมในอดีต มีผลงานเพลงที่มีความไพเราะและอมตะหลายเพลง อาทิ ถ้าหัวใจฉันมีปีก, หลักไม้เลื้อย, กาลเวลา, ไม่มีวันที่โลกจะหมุนกลับ, โชคดียอดรัก, ตัดไม่ขาด ฯลฯ
4. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
               นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : บุคคลที่อยู่ด้านซ้ายของภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน
   
คำใบ้ : บุคคลท่านนี้เคยเป็นอดีตอธิการบดีของ ม.อ.
   
คำตอบ     : ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
   

เกร็ดความรู้

 

               ภาพนี้เป็นภาพ Farewell Party เมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2525 ณ อาคารสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ในการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่าง Universiti Sains Malaysia กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดขึ้น การจัดครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนที่ 6

วาระการดำรงตำแหน่ง
กรกฎาคม 2522 - มิถุนายน 2528 (2 วาระติดกัน)

ประวัติการศึกษา
- แพทยศาสตรบัณฑิต (เหรียญทองคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร) จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (2495)
- Doktor der Medizin (Dr.med) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก สหพันธรัฐเยอรมัน (2500 - 2502)
- M.Ed จากมหาวิทยาลัย Illinois นคร Chicago มลรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา (2514)

ปริญญากิตติมศักดิ์
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2528)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2535)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2538)
- ปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2547)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร (2547)

ประวัติการทำงานที่สำคัญ
- พ.ศ. 2515 หัวหน้าหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษา
- พ.ศ. 2518 – 2521 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2521 ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรรมการแพทยสภา และประธานอนุกรรมการสอบความรู้ เพื่อขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- กรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
- ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกทางบุคลากรสาธารณสุขประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- พ.ศ. 2522 รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2522 – 2528 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2 วาระติดกัน)
- พ.ศ. 2529 – 2531 ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแพทยศาสตร์ศึกษา ประจำประเทศบังคลาเทศ
- พ.ศ. 2532 – 2533 ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายพัฒนาบุคลากร
- พ.ศ. 2533 รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย
- พ.ศ. 2539 – 2543 ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- พ.ศ. 2543 – 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา (พปค.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ

เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
- ได้รับเกียรติเป็นบุคลากรดีเด่น ประเภทความเป็นครู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2532)
- ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2534)
- ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัล เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์จากองค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่น ในด้านการพัฒนาองค์กรและวิชาการให้แก่สภากาชาดไทย

ผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดี
1. ดำเนินการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิทยาเขตปัตตานี
2. จัดตั้งสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยอิสลามศึกษา และวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
3. เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
4. รับนักเรียนจากโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น
5. จัดตั้งศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในการที่จะผสมผสานกลุ่มและบุคคลต่างๆ ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม
6. จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมราชชนกที่วิทยาเขตหาดใหญ่
7. ดำเนินการสืบเนื่อง จัดสร้างอาคารสำนักงานอธิการบดี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จนสำเร็จ
8. เวนคืนที่ดิน และดำเนินงานให้ผู้บุกรุกออกจากเขตมหาวิทยาลัย วิทยาเขตหาดใหญ่
9. ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จนแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในส่วน 100 เตียง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525
10. ผลักดันให้สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดำเนินการออกอากาศได้ในปี 2524
11. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การสอน การวิจัย และการประยุกต์ใช้ความรู้ และวิทยาการเพื่อพัฒนาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตก มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และมหาวิทยาลัยมิสซูรี

ข้อมูลจาก..หนังสือครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน มกราคม 2554

ปัญหาข้อที่ 1 :
คำถาม      : “ได้ยินเสียงแว่ว ดังแผ่วมาแต่ไกลไกล
ชุ่มชื่นฤทัย หวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลง ขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมาน ประทานกล่อมใจ”

เพลงนี้ ชื่อเพลงอะไร
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/Jan11-cut.mp3{/audio}
คำใบ้         :
คำตอบ      : เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/Jan11.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้


เพลง “ใกล้รุ่ง” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วย 

ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ขึ้น และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ทรงแก้ไข


หลังจากนั้น ทรงพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489

(จากหนังสือ “ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน” จัดทำโดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2539)

เพลง “ใกล้รุ่ง” ได้รับความอนุเคราะห์จาก...คุณอรุณรัตน์ แสงละออง
สถานีวิทยุ ม.อ. FM 88
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย... อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :
คำถาม : ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย นอกจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะศึกษาศาสตร์ ได้ใช้อาคารของ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบัน คือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นที่เรียนแล้ว ยังมีคณะอีกคณะหนึ่งที่ใช้อาคารดังกล่าวเป็นที่เรียนด้วย คณะนั้น คือ ...
ก) คณะวิทยาการจัดการ
ข) คณะแพทยศาสตร์
ค) คณะวิทยาศาสตร์
ง) คณะทรัพยากรธรรมชาติ
คำตอบ     : ค) คณะวิทยาศาสตร์

เกร็ดความรู้

ในปีการศึกษา 2510 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ในขณะนั้นยังใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยภาคใต้”) เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะแรก จำนวน 50 คน
แต่การจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้น คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เห็นควรจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ขึ้นด้วย เพื่อรับภาระสอนรายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นการเตรียมรับการขยายงานเพื่อก่อตั้งคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ ของมหาวิทยาลัยในอนาคตด้วย ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์จึงได้รับการจัดตั้งพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510
ต่อมา ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สงขลานครินทร์”
หลังจากนั้น ในปีการศึกษา 2511 ซึ่งเป็นปีถัดมา มหาวิทยาลัย ได้เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์เป็นรุ่นแรก จำนวน 60 คน และในปีการศึกษา 2512 มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 54 คน
นักศึกษาที่รับเข้าศึกษาทั้ง 3 คณะ ได้อาศัยใช้ห้องปาฐกถา ที่อาคารของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นสถานที่เรียนวิชาบรรยาย

อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม)
ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา

ส่วนการใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ได้ตามไปใช้ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์หลังใหม่ ตรงข้ามกรมทรัพยากรธรณี ถนนพระราม 6 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2511

อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์หลังใหม่
ตรงข้ามกรมทรัพยากรธรณี ถนนพระราม 6

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2515 คณาจารย์พร้อมทั้งนักศึกษา ชั้นปีที่ 2, 3, 4 ของคณะวิทยาศาสตร์ (รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานอธิการบดี) ซึ่งเป็นบุคลากรและนักศึกษาชุดสุดท้ายที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ย้ายลงสู่ภาคใต้มาประจำที่ศูนย์อรรถกระวีสุนทร อำเภอหาดใหญ่เป็นการถาวร จึงถือว่าเป็นการสิ้นสุดที่ทำการชั่วคราวที่กรุงเทพฯ


ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

เฉลยปัญหาประจำเดือน มกราคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ครูคือแก้วแพร้วใสกลางใจศิษย์       ชุบชีวิตมืดมนจนจางหาย
เป็นแก้วก่องส่องทางห่างอบาย          สู่ที่หมายด้วยแสงแห่งปัญญา”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำใบ้ : เพลงนี้เป็น 1 ใน 20 เพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก”
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “แก้ว” ขับร้องโดย “สวลี ผกาพันธ์”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/kaew full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เมื่อครั้งที่ผมได้รับมอบหมายจากคณะวิทยาศาสตร์ ให้เป็นผู้ประสานงานการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” เมื่อปี พ.ศ. 2544 สิ่งที่ผมคิดเป็นลำดับแรก คือเพลงชุดนี้น่าจะมีเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ แล้วนำมารวมกับเพลงเก่าในชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ที่เคยจัดทำไว้เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2527 ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เพลงทั้งหมด จำนวน 20 เพลง โดยจะบรรจุลงแผ่นซีดี จำนวน 2 แผ่น หรือ เทปคาสเซ็ท จำนวน 2 ม้วน แล้วนำมารวมไว้อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การจัดทำครั้งนี้เป็นการรวมเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดทำมา

               เพลง “แก้ว” เป็นเพลงที่ “รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น1 อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองไว้ เพลงนี้เป็นเพลงที่รู้จักและคุ้นเคยในบรรดานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานีเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้มีการบันทึกเสียงในขณะนั้น

               ครั้งแรกที่ผมได้เห็นเนื้อเพลงเพลงนี้ ในฐานะที่ใช้ชีวิตเป็นครูใน ม.อ. มานานหลายปี และมีลูกศิษย์มากมาย ผมรู้สึกประทับใจในบทเพลงเพลงนี้อย่างมาก เพราะจากเนื้อร้องสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างครูกับศิษย์ได้อย่างชัดเจน ผมจึงได้ขอเพลงนี้จากพี่วันเนาว์ เพื่อนำมาบันทึกเสียง โดยรวมไว้ในเพลงมหาวิทยาลัยชุดนี้ด้วย

               การที่จะทำให้เพลง “แก้ว” ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ เกิดอารมณ์คล้อยตาม และเป็นอมตะอยู่ได้ยาวนานนั้น ผมต้องใช้เวลาคิดและพิจารณาหานักร้องที่มีความเหมาะสมมาร้องเพลงนี้อยู่นานพอสมควร ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจเลือก “คุณสวลี ผกาพันธ์2 ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของเพลงอมตะ “ใครหนอ” ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้

“น้อมดอกบัวหัวใจมอบให้แล้ว        มอบแด่แก้วมณีอันมีค่า
เสมอสิ่งมิ่งขวัญกตัญญุตา                           น้อมบูชาจากจิตของศิษย์เอย”

               สิ่งที่ช่วยพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ผมตัดสินใจไม่ผิดในการเลือกนักร้อง เห็นได้จากในวันที่มีการบันทึกเสียงเพลง “แก้ว” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ที่ห้องบันทึกเสียง “เจ้าพระยาสตูดิโอ” กทม. หลังจากที่คุณสวลี ผกาพันธ์ ร้องเพลงนี้จบ ผมมีโอกาสได้เห็นหยาดน้ำตาที่ไหลลงมาสองข้างแก้มของรองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้ ภาพนั้นยังประทับใจผมอยู่ตราบจนทุกวันนี้


คุณสวลี ผกาพันธ์ (ซ้าย) และ รศ.วันเนาว์ ยูเด็น (ขวา)


               บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยทำให้เพลง “แก้ว” เป็นเพลงที่มีความสมบูรณ์ ลงตัว และกลมกลืนทางด้านเสียงดนตรี คือ “คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3“ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้


คุณสวลี ผกาพันธ์ (กลาง) และ คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ (ขวา)

1. รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น
                อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
2. สวลี ผกาพันธ์
                ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2532 มีผลงานการขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงมากมายกว่า 1,500 เพลง ในจำนวนนี้มีมากมายหลายเพลงที่ได้รับความสำเร็จสูงสุด และยังคงอยู่ในความนิยมตราบจนทุกวันนี้ อาทิ ลมหวน เมื่อวานนี้ หนึ่งในร้อย ระฆังทอง ดวงใจ ฟ้ามิอาจกั้น หากรู้สักนิด ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า หนีรัก จำเลยรัก บ้านทรายทอง ฤทธิ์กามเทพ ฯลฯ ด้วยน้ำเสียงและความสามารถเป็นเลิศ ทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานถึง 4 ครั้ง นับเป็นนักร้องหญิงที่ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำมากที่สุด
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                  ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                  เพลง “ไทยธำรงไทย”                ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                  เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                  เพลง “ตะแลงแลงแทงใจ”             ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                  เพลง “พะวงรัก”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                  เพลง “สุดเหงา”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อปี พ.ศ. ใด
   
คำตอบ     : ปี พ.ศ. 2510
   

เกร็ดความรู้

 

               ขณะเริ่มดำเนินการให้มีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2509 ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จึงใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยภาคใต้

               ต่อมา คณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ โดยมีพันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นประธาน เห็นว่า เพื่อให้สถาบันแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของประชาชนชาวไทย และเพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ควรได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อ เมื่อปี พ.ศ. 2510 ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์


(คลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

หนังสือจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “เปรียบเธอกับแสง แม้ไม่มีสี          แต่เธอก็สะท้อน ความจริงให้โลกนี้
ได้พบเห็นสิ่งดีๆ                                  ว่างดงามเพียงใด”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “แสงหนึ่ง” ขับร้องโดย “นภ พรชำนิ”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/แสงหนึ่ง-เต็ม.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เพลง “แสงหนึ่ง” เป็นเพลงที่ใช้ประกอบนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา เนื้อร้องของเพลงนี้มีความหมายลึกซึ้ง กินใจ และดนตรีมีความไพเราะมาก ประพันธ์โดย “บอยด์ โกสิยพงศ์”

 



 



                 เพลงนี้ มีการนำมาขับร้องในหลายเวอร์ชั่น ซึ่งมีความไพเราะน่าฟังทุกเวอร์ชั่น ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ขับร้องโดย แสตมป์ - คัตโตะ (อภิวัชร์ - อารมณ์) หรือ เวอร์ชั่นที่ขับร้องและบรรเลงโดยนักเรียนทุนในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
                 สำหรับเวอร์ชั่นที่ขับร้องโดย “นภ พรชำนิ” ได้ถูกทำขึ้นมาจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง พร้อมหนังสือ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” เพื่อร่วมไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ใด และอยู่ที่บริเวณด้านหน้าอาคาร ใด คณะใดในปัจจุบัน
   
คำตอบ     : ปี พ.ศ. 2516 บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานบริหาร คณะวิทยาศาสตร์
   

เกร็ดความรู้

 

 


ศรีตรังต้นนี้ เป็นต้นที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงปลูกไว้ ซึ่งขณะนี้เจริญเติบโตงอกงามเป็นศรีสง่า อยู่หน้าบริเวณอาคารบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน
               วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2516 สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินทรงรับเงินบริจาคสมทบทุนสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก ณ ลานชั้นล่าง ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  
                ในการเสด็จครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปลูกต้นศรีตรัง ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังเดิม (ปัจจุบันคืออาคารบริหาร คณะวิทยาศาสตร์)

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน